วัดตรีทศเทพ โบราณสถานแหล่งสำคัญที่ขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร

วัดตรีทศเทพ โบราณสถานแหล่งสำคัญที่ขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร />

22/06/2023

รีวิว

วัดตรีทศเทพ โบราณสถานแหล่งสำคัญที่ขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร

วัดตรีทศเทพจัดอยู่ในวัดซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่บริเวณถนนประชาธิปไตย แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นวัดที่มีความสำคัญทางด้านศาสนา ทั้งยังเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ โดยมีการจดทะเบียนให้วัดตรีทศเทพเป็นหนึ่งในโบราณสถาน ซึ่งขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พุทธศักราช 2539 ด้วยชื่อ วัดตรีทศเทพวรวิหาร

วัดตรีทศเทพ

โดยหลักในการพิจารณาว่าวัดหรือโบราณสถานนั้น จะสามารถขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรได้ไหม ก็จะมีหลักการพิจารณาดังนี้ ข้อแรกโบราณสถานนั้นจะต้องมีคุณค่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ และ มีความสำคัญในด้านของโบราณคดี เช่น เป็นสถานที่สำคัญในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนเป็นสถานที่ซึ่งมีลักษณะทางสถาปัตยกรรม หรือการก่อสร้างที่เป็นเอกลักษณ์ ควรค่าแก่การดูแลรักษา และสืบต่อให้กับแผ่นดินต่อไป

ความเป็นมาของแหล่งมรดกของชาติที่สำคัญอย่าง วัดตรีทศเทพ

ข้อมูลเกี่ยวกับวันเวลาที่แน่นอนในการสร้างวัดตรีทศเทพ นั้นยังไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่ต่อมาก็มีการคาดเดากันว่าอาจจะสร้างขึ้นในช่วงปีพุทธศักราช 2405 ซึ่งเป็นปีสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร โดยก่อนหน้าที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์ ได้มีการบริจาคทรัพย์และกำหนดแผนงานที่จะสร้างวัดเอาไว้ แต่ก็ยังไม่ทันได้สร้าง

ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส จึงทรงรับทำการก่อสร้างวัดแห่งนี้ต่อมา เพื่อไม่ให้เป็นการเสียความตั้งใจของกรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร และในเมื่อมีการตระเตรียมที่ดินเอาไว้พร้อมแล้ว พระองค์จึงเริ่มทำการสร้างวัด ขุดคูวัด สร้างกุฏิ สร้างศาลา  จนเสร็จเรียบร้อย เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมามาก แต่ยังไม่ทันได้สร้างวิหาร อุโบสถ และศาลาการเปรียญ พระองค์ก็ได้สิ้นพระชนม์ลงอีก 

วัดตรีทศเทพ

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเข้ามาทำงานชิ้นนี้ค่อ โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงครามเป็นผู้อำนวยการสร้างวัดแห่งนี้ จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ในปีพุทธศักราช 2410 และได้มีการโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า ‘วัดตรีทศเทพ’ ซึ่งสามารถตีความได้ว่าวัดของเทพผู้ชายสามองค์ (อาจหมายถึงผู้ที่เข้ามารับหน้าที่ในการก่อสร้างวัดแห่งนี้ ที่มีเจ้านายชนชั้นสูงมามีส่วนเกี่ยวข้องถึงสามพระองค์)

โดยพระอุโบสถเดิมเป็นพระอุโบสถขนาดย่อม ซึ่งมีการใช้งานมาอย่างยาวนาน และมีการชำรุดทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา จนกระทั่งปี 2529 อดีตเจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ ได้มีความคิดที่จะดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามที่ชำรุดทั้งหมด รวมทั้งต้องการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นแทนหลังเดิมเพื่อความสะดวกต่อการใช้งาน และความปลอดภัย จึงได้ดำเนินการเพื่อหวังทำนุบำรุงศาสนาให้คงอยู่ต่อไป และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์อีกด้วย

วัดตรีทศเทพ

นอกจากนั้นเมื่อปีพุทธศักราช 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หล่อพระพุทธนวราชบพิตร เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานประจำพระอุโบสถหลังใหม่ เพราะในขณะนั้นมีพระอุโบสถที่สร้างจนแล้วเสร็จ แต่ยังไม่มีองค์พระประธานภายใน ซึ่งถือได้ว่าพระพุทธนวราชบพิตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นองค์นี้ ในขนาดพระประธานองค์เดียวของไทยเลยก็ว่าได้

ภายในวัดมีประติมากรรม และจิตรกรรม รวมไปถึงพระพุทธรูปองค์สำคัญมากมาย โดยหนึ่งในสิ่งที่เป็นมรดกและทรงคุณค่ามากก็คือ พระธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นพระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา รายล้อมด้วยเจดีย์ขนาดย่อม 4 องค์ ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถ รายละเอียดขององค์พระธาตุเจดีย์ ประดับด้วยโมเสกสีทองทั้งองค์ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้รับประทานจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

พระพุทธรูปและปูชนียวัตถุที่ควรสักการะ

  1. พระพุทธนวราชบพิตร พระประธานในพระอุโบสถ
  2. พระธาตุเจดีย์ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
  3. จิตรกรรมฝาผนัง โดย จักรพันธุ์ โปษยกฤต
  4. วิหารคดรอบพระอุโบสถ ประดับด้วยหินอ่อน
  5. พระวิหารสมัยรัชกาลที่ 4

การเดินทางมายัง วัดตรีทศเทพ

แผนที่ : https://goo.gl/maps/cT9VbUiY825srE8s7

หากใครที่มีการเดินทางด้วยรถส่วนตัว ก็สามารถใช้เส้นทางมุ่งหน้าไปทางถนนราชดำเนิน จนกระทั่งถึงแยก จ.ป.ร. ให้เลี้ยวขวา จากนั้นชิดซ้ายไว้ตลอดทางโดยไม่ต้องขึ้นสะพาน จนถึงไฟแดง หลังจากเลยไฟแดงมาไม่นานก็จะเห็นซอยที่คนในพื้นที่ใช้ในการเข้าสู่ทางลัดวัดตรีทศเทพได้

หรืออีกทางหนึ่งก็คือการใช้รถไฟฟ้า BTS มาลงที่สถานีอนุเสารีย์ชัยภูมิ จากนั้นรอขึ้นรถโดยสารสาย 12 ฝั่ง รพ.ราชวิถี รถสายนี้จะผ่านหน้าวัดตรีทศเทพ และยังมีอีกหลายเส้นทางซึ่งสามารถไปถึงวัดนี้ได้ ดังนั้นใครที่ต้องการไปเยี่ยมชมความสวยงาม และสถานที่ซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญของไทย ก็อย่าลืมตรวจสอบเส้นทาง และวัน-เวลาให้แม่นยำก่อนด้วย