ธรรมเนียมปฏิบัติและความเชื่อเกี่ยวกับพวงหรีดในงานศพ

ธรรมเนียมปฏิบัติและความเชื่อเกี่ยวกับพวงหรีดในงานศพ />

27/04/2023

ทั่วไป

ธรรมเนียมปฏิบัติและความเชื่อเกี่ยวกับพวงหรีดในงานศพ

การมอบพวงหรีดเพื่อเป็นเครื่องหมายและตัวแทนของความอาลัยที่มีต่อผู้เสียชีวิตนั้นในความเป็นจริงก็ไม่ได้มีกฏเกณฑ์อะไรที่ตายตัวมากนัก เพราะส่วนใหญ่ทุกคนก็จะรู้กันในใจอยู่แล้วถึงความหวังดีที่ผู้มอบพวงหรีดมีให้ เพียงแต่ก็ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยึดหลักปฏิบัติตามความเชื่อและธรรมเนียมซึ่งทำสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถือว่าสิ่งเหล่านั้นได้กลายมาเป็นเสมือนแนวทางให้คนรุ่นใหม่ได้ปฏิบัติตามกันไปโดยปริยาย แต่ถึงอย่างนั้นหลักการต่าง ๆ ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละโอกาส

5 ข้อความเชื่อ

  1. มอบพวงหรีดให้ถูกกาละเทศะ
  2. ไม่ชื่นชมหรือเอ่ยปากว่าอยากได้พวงหรีดในงานศพ
  3. วัสดุที่นำมาทำพวงหรีดต้องสดใหม่
  4. ห้ามนำพวงหรีดเข้าบ้าน
  5. ฝากถ้อยคำอาลัยไว้บนพวงหรีด

นับตั้งแต่อดีตพวงหรีดมีประวัติมายาวนานหากย้อนหลังไปเป็นที่นิยมแพร่หลายไปงานศพที่ไหนวัดไหนเป็นต้องพบเห็น แต่เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไปก็ส่งผลให้ความคิดและทัศนคติความเชื่อที่แตกต่างกันออกไปต่อเรื่องราวในสังคม ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ดังนั้นการศึกษาข้อมูลเหล่านี้ไว้มันก็เป็นเหมือนคำสุภาษิตที่ว่า ‘รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม’ นั่นเอง เพราะฉะนั้นเราจึงทำการจำแนกธรรมเนียมปฏิบัติและความเชื่อของพวงหรีดในงานศพมาเป็นข้อ ๆ ดังนี้

ภาพพวงหรีด

มอบพวงหรีดให้ถูกกาละเทศะ

รับพวงหรีดเดิมทีธรรมเนียมการมอบพวงหรีดนั้นมักจะยึดถือเวลาในการมอบเป็นสำคัญ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันธรรมเนียมในเรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องหยุมหยิมไปแล้วก็ตาม เนื่องจากรูปแบบของการใช้ชีวิตและข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างของแขกที่มาร่วมงานก็อาจจะไม่ได้มีความสะดวกในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งอย่างเจาะจง ดังนั้นในยุคสมัยนี้ช่วงเวลาที่มักจะมอบพวงหรีดให้กันก็มักจะขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคนและเลือกช่วงเวลาที่ไม่รบกวนพิธีการต่าง ๆ ของผู้จัดงานเท่านั้นก็พอ หากแต่เมื่อก่อนนั้นพวงหรีดนิยมมอบกันในช่วงเวลาเย็นหรือหัวค่ำและมักจะเลือกมอบให้กันในวันแรกของงานศพ เพราะจะเป็นช่วงเวลาที่แขกยังไม่เยอะมากและสามารถนำเอาพวงหรีดไปจัดวางประดับตกแต่งภายในงานร่วมกับเจ้าภาพได้ด้วยนั่นเอง

ไม่ชื่นชมหรือเอ่ยปากว่าอยากได้พวงหรีดในงานศพ

เนื่องจากตามความเชื่อของคนไทยส่วนใหญ่งานศพถือได้ว่าเป็นงานอวมงคลหรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นงาน ‘ไม่มงคล’ ดังนั้นหากมีโอกาสต้องไปร่วมงานศพเมื่อไหร่ทุกคนจึงจำเป็นจะต้องสำรวมกายและวาจา ตลอดจนระวังอย่าชื่นชมหรือเอ่ยปากว่าอยากได้พวงหรีดแบบนั้นแบบนี้บ้างในขณะที่อยู่ในงานศพ เพราะตามความเชื่อแล้วการกระทำแบบนั้นก็เป็นเสมือนการแช่งตัวเอง ดังนั้นผู้เฒ่าผู้แก่จึงได้ส่งต่อความเชื่อนี้มาตั้งแต่อดีต แต่ในความเป็นจริงก็คงไม่มีใครตอบได้ว่าหากเราพูดแบบนั้นออกไปแล้วจะเกิดสิ่งใดขึ้นหรือจะเป็นการลดอายุตัวเองได้จริงหรือไม่ แต่การจะแสดงกิริยาที่ชื่นชอบหรือยินดีกับพวงหรีดตลอดจนสิ่งของต่าง ๆ ในงานศพจนเกินงามในขณะที่ผู้อื่นกำลังอยู่ในความเศร้าโศกเสียใจก็ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรเช่นกัน

วัสดุที่นำมาทำพวงหรีดต้องสดใหม่

สำหรับธรรมเนียมปฏิบัติในข้อนี้เชื่อว่าทุกคนก็คงจะสามารถทำกันได้อยู่แล้วโดยที่ไม่ต้องมีใครมานั่งบอก เนื่องจากพวงหรีดเป็นเสมือนตัวแทนของความอาลัยและแสดงความเคารพต่อผู้เสียชีวิต ดังนั้นพวงหรีดแต่ละชิ้นจึงควรจะสร้างขึ้นมาจากความใส่ใจและปราณีตเพื่อเป็นการให้เกียรติทั้งผู้จัดงานและผู้เสียชีวิตนั่นเอง และที่สำคัญวัสดุต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการทำพวงหรีดก็ล้วนแล้วแต่ถูกเลือกมาจากวัสดุที่มีความหมายมลคล ดังนั้นหากสิ่งของเหล่านั้นเป็นของเน่าของเสียหรือเป็นสิ่งของที่ชำรุดใกล้พัง มันก็อาจจะกลายเป็นว่าเรากำลังเรียกความโชคร้ายและสาปแช่งดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับอย่างได้นั่นเอง

ห้ามนำพวงหรีดเข้าบ้าน

อีกหนึ่งความเชื่อที่สืบทอดมาจากการที่ผู้คนมองงานศพเป็นงานที่ไม่มงคล ดังนั้นสิ่งของอะไรที่เกี่ยวข้องกับงานศพจึงไม่นิยมและมักจะห้ามไม่ให้นำเข้าบ้านเพื่อป้องการสิ่งอวมงคลต่าง ๆ ซึ่งอาจจะตามเข้าไปยังบริเวณที่อาศัยหรือเป็นการเรียกความโชคร้ายเข้ามาสู่ตนเอง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปมุมมองในเรื่องของงานศพตลอดจนการมอบพวงหรีดให้กับผู้เสียชีวิตก็ดูจะแตกต่างออกไป เพราะถึงแม้พวงหรีดจะถูกใช้ในโอกาสที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากความยินดี แต่มันก็เป็นตัวแทนของความรู้สึกดี ๆ และเป็นความหวังดีที่เราต้องการมอบให้กับผู้เสียชีวิตทั้งยังถูกจัดทำขึ้นมาด้วยความใส่ใจและสิ่งของมงคลหลากหลายชิ้น ดังนั้นในปัจจุบันพวงหรีดจึงไม่ได้นับว่าเป็นสิ่งที่ต้องห้ามหรือไม่ควรนำเข้าบ้านอีกต่อไป

ฝากถ้อยคำอาลัยไว้บนพวงหรีด

ธรรมเนียมในข้อนี้ถือเป็นหลักการปฏิบัติที่ทำสืบต่อกันมา โดยในแต่ละชนชาติหรือแต่ละศาสนาก็อาจจะมีรูปแบบของการฝากถ้อยคำเพื่อแสดงความอาลัยต่อผู้เสียชีวิตที่ต่างกันออกไป ยกตัวอย่าง เช่น ในศาสนาพุทธมักจะมีการใช้ข้อความกำกับว่าพวงหรีดนี้มอบให้โดยใครพร้อมกับข้อความแสดงความอาลัย เช่น ด้วยความอาลัย, รักเสมอ เป็นต้น ในขณะที่ต่างประเทศมักจะใช้เป็นข้อความสั้น ๆ เพื่อเป็นการระลึกถึงผู้เสียชีวิต แต่สุดท้ายข้อความที่ทุกคนต้องการจะใส่ลงไปบนพวงหรีดก็ยังคงไม่ได้มีกฏเกณฑ์มากมายอยู่ดี หากทุกคนมีความจริงใจและต้องการแสดงถึงความอาลัยต่อผู้เสียชีวิตไม่ว่าจะเป็นไปในรูปแบบใดก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น

พิธีกรรมการจัดงานศพแบบแปลกๆ ที่มีอยู่จริงในโลก

บริการงานศพแบบ Drive-Thru ครบจบภายในไม่กี่นาที่